วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว จังหวัดเพชรบูรณ์
วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ตั้งอยู่บนผาซ่อนแก้ว ในธรรมภูมิที่แวดล้อมด้วยภูเขา ม่านหมอก และความเงียบสงบ ก่อร่างสร้างขึ้นโดยพระครูใบฏีกาอำนาจ โอภาโส พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธา ที่ร่วมเปลี่ยนผาแห้งแล้งให้กลายเป็นสถานที่อันสงบร่มเย็น เหมาะสำหรับปลีกวิเวกเจริญภาวนาของผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งหลาย เดิมทีผาซ่อนแก้วถูกกล่าวขานแต่ไรมาว่าเป็นสถานที่สัปปายะ ที่มีพระสงฆ์นักปฏิบัติหลายรูปมาปักกลดเพื่อเจริญภาวนากันอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ พระครูใบฏีกาอำนาจ โอภาโส ที่เคยเดินทางมาปฏิบัติธรรมตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส หลังจากพระครูใบฏีกาอำนาจ ตัดสินใจสละเพศฆราวาส สู่พรรพชิตเข้าพิธีอุปสมบทในปี พ.ศ. 2547 วันรุ่งขึ้นท่านได้มุ่งหน้ามายังผาซ่อนแก้วแห่งนี้ เป็นสถานที่แรก และสร้างกุฏิขึ้นเป็นกระต๊อบหลังเล็กๆ ด้วยตั้งใจละทิ้งลาภยศชื่อเสียงโดยสมบูรณ์ และตั้งมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจท่ามกลางความวิเวก อย่างแท้จริง แต่เวลาผ่านไปผู้ที่เคยเรียนธรรมะกับหลวงพ่ออำนาจตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาสเมื่อได้ทราบข่าวจึงขอติดตามมาศึกษาธรรมะถึงที่ผาซ่อนแก้ว อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกระแสธารหลั่งไหลจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลา และอาคารปฏิบัติธรรมแก่พระสงฆ์ และพุทธศาสนานิกชน จนก่อตั้งเป็น “พุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว” ขึ้นในปีเดียวกัน
จากนั้นปีต่อมาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระเมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุให้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ที่พระพุทธเลิศรัตนโชติมณี หรือ พระหยกเขียว พระพุทธรูปหยกปางมารวิชัยศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นเหตุให้ในปี พ.ศ. 2549 พระครูใบฎีกาอำนาจ ได้ออกแบบ และก่อสร้างเจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้ว สิริราชย์ธรรมนฤมิตร เพื่อเป็นพุทธบูชา และบนยอดเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ ในขณะที่บริเวณใต้ฐาน พระเจดีย์เป็นที่เก็บรวบรวมหลักธรรมคำสอน ภาพปริศนาธรรม และให้ผู้ปฏิบัติธรรมใช้เป็นสถานที่สำหรับการเจริญสติภาวนา
สำหรับวิหารพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ที่ออกแบบโดยพระครูใบฏีกาอำนาจ เพื่อร่วมน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหาวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนม พรรษา 85 พรรษาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นั้นสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2557 เป็นวิหารขนาดฐานกว้าง 41 เมตร ยาว 72 เมตร สูง 45 เมตร และมี 7 ชั้น เป็นที่พักของผู้ปฏิบัติธรรม และประกอบศาสนากิจ ได้แก่ การสวดมนต์ ฟังธรรม และการ ปฏิบัติภาวนา ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานพุทธศิลป์ของพระครูใบฏีกาอำนาจ ที่ได้รับกล่าวขานด้านเอกลักษณ์การออกแบบที่สวยสง่าตระการตา
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน 08.00 – 17.00 น.